ความหมาย |
---|
คำจำกัดความของคำว่าชนกลุ่มน้อยและชาวเขานี้ ได้รับการให้ความหมายไว้หลายประการตามหน่วยงานและนักวิชาการต่างๆ ชนกลุ่มน้อย (Minority Group) หมายถึง “กลุ่มชนที่มีเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมแตกต่างไปจากประชาชนเจ้าของประเทศ “ กรมการปกครอง ให้ความหมายไว้ในเอกสารของสำนักทะเบียนราษฎร์ว่า ชนกลุ่มน้อย หมายถึง“กลุ่มชนที่มิใช่คนไทย มีจำนวนน้อยกว่าเจ้าของประเทศ และมีวัฒนธรรมแตกต่างกันไป อาศัยอยู่ในประเทศไทยอาจเป็นชนกลุ่มน้อยดั้งเดิม เช่น ชาวเขา หรือเป็นผู้อพยพเข้ามา หลบหนีเข้าเมืองหรือเข้ามาพักชั่วคราว” ชาวเขา (Hill tribe) หมายถึง ชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในเขตบริเวณที่สูงกว่าระดับพื้นดิน โดยปกติจะมีภาษาพูด และวัฒนธรรมแตกต่างจากคนไทยโดยทั่วไป ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ได้นิยามความหมายของคำว่าชาวเขาไว้ว่า ชาวเขา หมายถึง “ชนกลุ่มน้อยซึ่งตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในอาณาบริเวณพื้นที่ที่เป็นเทือกเขา สูงไม่เกินหนึ่งหมื่นฟุตจากระดับน้ำทะเล มีขนบธรรมเนียม ประเพณี ภาษาพูด ความเชื่อ อาชีพและอุปนิสัยใจคอคล้ายคลึงกัน มีการปกครองร่วมกัน แต่แตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัดจากประชากรเจ้าของประเทศในด้านชาติพันธ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีและภาษาพูด และมีความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ” วัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนานของกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆที่เป็นชนกลุ่มน้อยในพม่าและชายแดนไทย ซึ่งรวมทั้งวัฒนธรรมการสร้างบ้านเรือนที่สืบทอดกันจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งกำลังถูกกลืนโดยวัฒนธรรมอื่น จากความเจริญจากพื้นราบขึ้นสู่ดอยสูง จากตัวเมืองสู่ชนบท การคมนาคมที่สะดวกขึ้น และการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย ทำให้ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้รับวัฒนธรรมของชาวเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เอกลักษณ์ของบ้านเรือนของแต่ละชาติพันธ์ที่บ่งบอกถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมและถิ่นฐานเดิมที่อพยพมากำลังหายไป กลายเป็นวัฒนธรรมผสมผสาน วัสดุก่อสร้างใหม่เข้าสู่หมู่บ้านชาวดอย รูปแบบบ้านเริ่มเปลี่ยนไป พื้นที่ใช้สอยใหม่เพิ่มขึ้นมาเช่น ห้องน้ำห้องส้วม โรงจอดรถ ของใช้ในบ้านเพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไป ถ้ากระแสไฟฟ้าเข้าถึง เครื่องใช้ไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้น วิทยุ โทรทัศน์พัดลม ฯลฯ องค์ประกอบของหมู่บ้านก็เพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไป เช่น โรงเรียน ร้านค้า เกสท์เฮ้าส์เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ฯลฯ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปมีผลทำให้สถาปัตยกรรมเปลี่ยนไปด้วย "ชาวเขา" ตามนโยบายการพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ของกรมประชาสงเคราะห์ (มติ ครม. 6 กรกฎาคม 2519) ประกอบด้วย กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จำนวน 9 เผ่าหลัก ได้แก่ แม้ว เย้า มูเซอ ลีซอ อีก้อ กะเหรี่ยง ลัวะ ถิ่น ขมุ และมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน ประชากรชาวไทยภูเขาในประเทศไทยล่าสุด จากข้อมูล กองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ มีจำนวนประชากรทั้งหมด 774,316 คน139,797 หลังคาเรือน 3,746 หมู่บ้าน/กลุ่มบ้าน
|
แผนภูมิ 1 แสดงชาติพันธ์และการสืบเชื้อสายของชนกลุ่มน้อยในไทย (ที่มา : Gordon Young, The Hill tribes of Northern Thailand) |
ชนกลุ่มน้อยในพม่าและชายแดนไทยที่ตั้งถิ่นฐานบนภูเขา สามารถแบ่งได้ตามลักษณะการอพยพย้ายถิ่นได้ 2 กลุ่มใหญ่คือ - กลุ่มที่อพยพขึ้นเหนือ ได้แก่กลุ่มไมโครนิเซี่ยน-โพลินิเซี่ยน - กลุ่มที่อพยพลงใต้ ได้แก่กลุ่มจีน-ธิเบต และสามารถแบ่งตามความสัมพันธ์ทางภาษาศาสตร์ได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ - กลุ่มภาษาจีน - กลุ่มภาษาธิเบต-พม่า - กลุ่มภาษามอญ-เขมร
|
แผนที่แสดงเส้นทางอพยพเข้าสู่ไทยของของชนกลุ่มน้อยจากจีนและธิเบต |
แผนภูมิ 2 แสดงการตั้งถิ่นฐานของชาวเขาเผ่าต่างๆในภาคเหนือของไทย |
ผู้จัดทำ นายสมยศ ธูปทองดี |
---|
![]() |