หน้าหลัก

ประเภทของกีฬาเรือพาย

ประวัติ เรือคยัค-แคนู

ประวัติเรือยาวประเพณี

ประวัติกีฬาเรือกรรเชียง (Rowing)

ประวัติเรือมักร

ประวัติกีฬา เรือใบ

 

เรือยาวมรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ

 

1.สายน้ำ กับชีวิต คนไทย มีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับ สายน้ำ และธรรมชาติการสร้างบ้านสร้างเมือง สร้างชุมชน แต่โบราณกาล จะเลือกทำเลที่มีแม่น้ำลำคลอง และแหล่งน้ำเป็นสำคัญ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตรกรรมยังชีพแห่งชีวิต และชุมชน สายน้ำ จึงเปรียบเสมือน สายโลหิตของชีวิตคนไทยมาแต่อดีตจวบจนปัจจุบันยันอนาคต เพราะน้ำคือชีวิต น้ำยังนำมาซึ่ง คติธรรม ในการดำเนินชีวิตของชาวไทยให้เข้าใจถึงสัจธรรมในธรรมชาติของชีวิต กล่าวคือ

 

2.เรือ กับ วิถีชีวิตไทย แม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางสำคัญในการสัญจรติดต่อไปมาค้าขายซึ่งกันและกันมาแต่บรรพกาล เรือจึงเป็นพาหนะสำคัญในวิถีชีวิตของชาวไทยที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพชนแต่บรรพกาลประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการสัญจรระหว่างบ้านและชุมชน เรือเป็นพาหนะที่มีบทบาทสำคัญแต่อดีตจวบจนปัจจุบันทั้งในวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การคมนาคมขนส่ง ตลอดจนก่อให้เกิดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามแห่งสายน้ำของสยามประเทศ

3.บุญแข่งเรือ ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติเป็นพื้นฐานของศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตอันดีงามของชาวไทย ในฤดูน้ำหลาก ว่างเว้นจากการเพาะปลูก ปักดำทำนา ในเทศกาลงานบุญประเพณีออกพรรษา ด้วยนิสัยรักสนุกอันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ก่อให้เกิดการละเล่นทางน้ำ อาทิ การเล่นเพลงเรือ และการแข่งขันเรือยาวประเพณีขึ้น อันเป็นกีฬาชาวบ้านในชุมชนชนบทไทย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาชาติขึ้นทุกลุ่มน้ำแห่งสยามประเทศ ความล้มเหลวในการพัฒนาชนบทไทยนำมาซึ่งปัญหาสังคมนานับประการในสังคมเมือง

4.จากขุนเขา สู่สายน้ำ สยามประเทศ เรือยาว เป็นเรือที่ขุดจากไม้ต้นเดียวตลอดทั้งลำ มีลักษณะรูปท้องขัน (แบน) และท้องรูปกะทะ ไม้ที่นำมาขุดเรือยาว หรือเรือแข่งได้แก่ ไม้ตะเคียน ไม้สำโรง ไม้มะหาด เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่นิยมเรือขุดจากไม้ตะเคียน ต้นตะเคียนเป็นต้นไม้ที่มีกำหนดจากขุนเขาในเขตป่าดิบชื้น และป่าเต็งรังทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นได้ดีบนที่ราบ หรือค่อนข้างราบใกล้ริมน้ำ ไม้ตะเคียนแต่โบราณนิยมนำมาขุดเรือยาว เนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็ง มีเนื้อเหนียว ลอยน้ำ และพุ่งน้ำได้ดี มีน้ำหนักพอประมาณ แช่น้ำได้นาน ไม่ผุง่าย แต่โบราณเชื่อกันว่ามี นางไม้ หรือนางตะเคียนสิงอยู่ เมื่อนำมาขุดเป็นเรือยาวก็จะเชิญนางไม้เป็นแม่ย่านางเรือ เชื่อกันว่าจะนำชัยชนะและความสำเร็จมาให้

5.ประเภทของไม้ตะเคียน จำแนกได้ 4 ประเภท คือ 1.ไม้ตะเคียนทอง 2.ไม้ตะเคียนหิน 3.ไม้ตะเคียนหนู 4.ไม้ตะเคียนหยวก ส่วนใหญ่นิยมใช้ “ไม้ตะเคียนทอง” ขุดเรือ เพราะนางไม้มีวิญญาณที่แกร่งกล้า (เฮี้ยนมาก) และเนื้อไม้ออกสีเหลือง เมื่อขุดเป็นเรือเสร็จ สีผิวไม้ของตัวเรือจะดูสวยงาม

6.ลักษณะของไม้ตะเคียนที่ดี เป็นไม้ตรง ไม่มีปุ่ม ไส้ไม่กลวง พึงสังเกตลักษณะของใบเขียวเป็นมัน ขอบใบไม่ไหม้เกรียม ใบไม่เหลือง ผิวเปลือกอิ่มเป็นมัน ไม่แตกระแหงเป็นสะเก็ด โคนต้นไม่มีเห็ดราขึ้น ไม่มีแมลงบินเข้าออกจากลำต้น หรือมีปลวกขึ้นต้น จึงเป็น “ไม้ที่มีลักษณะงามตามตำราขุดเรือ” มีขนาดและความยาวเหมาะสม ควรคำนึงถึงการโค่นด้วยว่าสามารถโค่นได้หรือไม่ ทิศทางในการล้มของไม้ ถ้าล้มฟาดระหว่างขอบห้วย หรือลานหินไม้อาจหัก หรือไส้ไม้ช้ำน่วมเสียหายได้

7.ภูมิปัญญาในการคำนวณความสูงของต้นตะเคียน เมื่อพบต้นตะเคียนที่มีลักษณะถูกต้องตามตำราแล้ว จะอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านในการคำนวณความสูง (ยาว) ของต้นไม้ โดยอาศัย หลักตรีโกณมิติคณิตศาสตร์ ด้วยการยืนหันหลังให้ต้นตะเคียน แล้วก้มลงมองลอดหว่างขา ศีรษะก้มอยู่ระดับเข่า ถ้ามองเห็นยอดตะเคียนพอดีก็วัดจากจุดยืนถึงโคนต้นจะได้ความสูงของต้นตะเคียนพอดี บางครั้งใช้การปีนขึ้นต้นไม้แล้วใช้เชือกวัด หรือใช้เชือกผูกติดหน้าไม้ยิงไปที่ส่วนปลายยอดไม้แล้วจึงวัดคำนวณความยาว หรือใช้วิธีการปล่อยลูกโป่งอัดลมลายถึงกิ่งยอดตะเคียนแล้วจึงดึงลงมาวัดหาความยาวของต้นไม้

8.ขนาด และความยาว (สูง) ของไม้ตะเคียน ไม้ตะเคียนที่ดีควรมีขนาดของลำต้นวัดส่วนโคนขนาดประมาณ 3.5 เมตร วัดรอบปลายลำต้นขนาดประมาณ 2.5 เมตร เป็นขนาดที่เหมาะที่สุดในการขุดเรือ และมีสัดส่วนของความยาว (สูง) ดังนี้ เรือยาวใหญ่ จะต้องมีความยาวประมาณ 13-15 วา เรือยาวกลาง จะต้องมีความยาวประมาณ 11-12 วา เรือยาวเล็ก จะต้องมีความยาวประมาณ 10 วา เรือยาวจิ๋ว จะต้องมีความยาวประมาณ 7 วา หมายเหตุ เรือจิ๋ว (12 ฝีพาย) นิยมใช้ไม้งิ้วขุดเพราะมีน้ำหนักเนื้อเบากว่า

9.การโค่นต้นตะเคียน ต้นตะเคียนเชื่อกันว่ามีนางไม้ หรือนางตะเคียนสิงอยู่ ก่อนโค่นต้องตั้งศาลเพียงตา 2 ศาล พร้อมเครื่องสังเวย อาทิ หัวหมู ไก่ ไข่ต้ม ขนมต้มแดง-ขาว เหล้าขาว หมากพลู-บุหรี่ บายศรี 2 ที่ เพื่อขอขมาบอกกล่าวเจ้าป่าเจ้าเขา ขออนุญาตทำการตัดโค่นต้นไม้ในป่า ซึ่งนิยมเซ่นไหว้ได้แต่เช้าจรดเย็นยกเว้นวันพระ ศาลที่ 2 บอกกล่าวนางตะเคียนโดยงดเว้นเหล้า-บุหรี่ ควรเพิ่มเครื่องตกแต่งผู้หญิง อาทิ หวี แป้ง ผ้าแพร น้ำอบน้ำหอม เป็นต้น ไม่ควรเซ่นไหว้เกินเที่ยงวัน เมื่อพลีกรรมแล้วจึงทำการตัดโค่นโดยผู้เชี่ยวชาญ สมัยโบราณใช้เลื่อยมือแรงงานคนในการโค่นและช้างชักลากไม้ ปัจจุบันใช้เครื่องทุ่นแรง คือ เลื่อยยนต์ทำให้ตัดไม้รวดเร็ว แล้วใช้รถยนต์ชักลากสู่สถานที่ขุด คือวัดได้อย่างรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ต้นตะเคียนที่นำมาขุดเรือต้องเป็นไม้ที่ไม่ได้ตีตราไม้ตามระเบียบราชการเชื่อว่าไม้ต้นใดตีตราแล้วแม่ย่านางจะไม่อยู่

10.ภูมิปัญญาไทยในการขุดเรือยาว การขุดเรือ ช่างขุดเรือซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านไทยจะพิจารณาดูไม้ว่าจะเอาส่วนไหนทำ หัวเรือ หางเรือ และท้องเรือ ซึ่งช่างขุดเรือส่วนใหญ่จะนิยมใช้โคนต้นไม้เป็นหัวเรือ ใช้ปลายไม้เป็นท้ายเรือ รูปทรงเรือหัวโตท้ายเรียวคล้ายปลาช่อน เพราะเชื่อว่าจะเปิดน้ำได้ดีทำให้เรือวิ่ง แต่บางช่างนิยมใช้ปลายไม้ทำหัว โคนไม้ทำท้าย เรือลักษณะนี้หัวเรียวท้ายโต ก่อนขุดจะตั้งศาลเพียงตาอัญเชิญนางไม้ขึ้นศาลฯ เมื่อขุดเรียบร้อยแล้วจะเชิญขึ้นเป็นแม่ย่านางประจำเรือ โดยมีขั้นตอนการขุดเรือดังนี้

11.พิธีนำเรือลงน้ำ เมื่อขุดเรือเสร็จ ตั้งชื่อเรือเรียบร้อย ก็จะถึงขั้นตอนที่จะนำเรือลงน้ำ ก็จะต้องทำพิธีกรรมสำคัญอีกครั้ง โดยการตั้งศาลเพียงตาบวงสรวงเชิญแม่ย่านางลงเรือ โขนเรือก็จะตกแต่งด้วยผ้าแพรสีสันสวยงาม พิธีเบิกเนตร (ตาเรือ) บางครั้งอาจมีพิธีสงฆ์ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล และรำถวายรับขวัญแม่ย่านาง ครั้นได้ฤกษ์ฝีพายก็ชวยกันโห่สามครั้งยกเรือลงน้ำทันทีฝีพายก็จะนั่งประจำเรือและทดสอบพายดูว่าเอียงหรือท้ายลากหรือไม่ เป็นต้น โดยนายช่างขุดเรือจะตรวจสอบความบกพร่องของเรือที่ขุด ถ้าเรียบร้อยดีก็จะเริ่มการฝึกซ้อมฝีพายให้ทันที ถ้ามีส่วนใดบกพร่องก็จะต้องรื้อแก้ไขตกแต่งใหม่จนกว่าจะพายแล้วแล่นได้ดีในที่สุด

12.ประเภทของเรือยาวประเพณี สามารถจำแนกโดยอาศัยจำนวนฝีพายเป็นตัวกำหนดขนาดในการแบ่งประเภทของการแข่งขันได้เป็น 4 ประเภท คือ 1.เรือยาวใหญ่ ใช้ฝีพายตั้งแต่ 41-55 คน 2.เรือยาวกลาง ใช้ฝีพายตั้งแต่ 31-40 คน 3.เรือยาวเล็ก ใช้ฝีพายไม่เกิน 30 คน 4.เรือยาวจิ๋ว ใช้ฝีพายไม่เกิน 12 คน หมายเหตุ เรือยาวจิ๋ว จำแนกเป็น 3 ประเภทคือ เรือจิ๋วใหญ่ ฝีพาย 12 คน เรือจิ๋วกลาง ฝีพาย 10 คน เรือจิ๋วเล็ก ฝีพาย 7-8 คน

13.การบรรยายการแข่งขัน เรือยาวประเพณีเป็นกีฬาชาวบ้านในฤดูน้ำหลากเทศกาลบุญประเพณีออกพรรษา นอกจากจะสนุกสนานกับการประลองความแข็งแกร่งของฝีพายชิงเจ้าความเร็วแห่งสายน้ำสยามประเทศแล้วการบรรยายการแข่งขัน (พากย์เรือ) ยังเป็นอีกอรรถรสหนึ่งที่เพิ่มสีสันให้การแข่งขันเป็นได้ด้วยความดุเดือด เร้าใจเป็นยิ่งนัก หลักการบรรยายการแข่งขันเรือยาวประเพณี มีหลักการง่าย ๆ กล่าวคือ 1.ต้องรู้ดี ในที่นี้หมายถึง 3 รู้ คือ -รู้เรือ คือ ประวัติความเป็นมา และการแข่งขัน -รู้พาย คือ รู้ความสมบูรณ์แข็งแกร่งของฝีพายแต่ละทีมและแม่นในกติกา -รู้สายน้ำ คือ รู้ล่องน้ำในแต่ละสนามว่าล่องไหนได้เปรียบเสียเปรียบจุดไหนอย่างไร 2.มีโวหาร ในที่นี้หมายถึง -มีศิลปในการพูดดี -มีเสียงดังก้องกังวาล -มีลวดลายลีลาการพากย์ รวดเร็ว ดุเดือด เร้าใจ -เป็นผู้มีอารมณ์ คารม คำขำ ฟังแล้วเพลินหู 3.ปฏิภาณว่องไว มีไหวพริบปฏิภาณว่องไวสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสนามไปสู่จุด หรือประเด็นที่จะชี้นำสาระคุณค่ามวลประสบการณ์อันเป็นประโยชน์แก่ผู้ชม ผู้ฟังได้เป็นอย่างดี

14.วิวัฒนาการเรือยาวไทย เรือยาวมรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำเป็นกีฬาชาวบ้านอันสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตอันดีงาม ความผูกพันระหว่างสายน้ำกับชีวิต เรือกับวิถีชีวิตบนพื้นฐานของความศรัทธาเสื่อมใสในคำสอนทางพระพุทธศาสนา อันนำมาซึ่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของบวร ซึ่งแปลว่า ประเสริฐ อันได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งเป็นองค์กรพื้นฐานของชุมชนชนบทไทยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของชาติ เรือยาวประเพณีไทยได้มีวิวัฒนาการจากวิถีชีวิตมาสู่ประเพณี และวิวัฒนาการไปสู่ระบบการแข่งขันนานาชาติในปี พ.ศ.2531 อันเป็นทรัพยากรด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สำคัญจนเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่ว กระทั่งพัฒนาไปสู่การกีฬาในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ และระดับประเทศสามารถจำแนกวิวัฒนาการได้เป็น

1.ยุคอดีต แต่ละคุ้มบ้าน คุ้มวัด ในทุกลุ่มน้ำสยามประเทศนิยมหาไม้ตะเคียนนำมาขุดเป็นเรือยาวร่วมการแข่งขันอันแสดงออกถึงความพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะ เพื่อสร้างชื่อเสียงเกียรติคุณมาสู่คุ้มบ้าน คุ้มวัดของตนเอง ช่างขุดเรือที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยที่ควรจารึกไว้ในความทรงจำตลอดไปว่าเป็นบรมครูแห่งภูมิปัญญาช่างไทยในการขุดเรือยาว อาทิตย์ 1.ช่างเสริม เชตวัน บ้านเกาะหงส์ จ.นครสวรรค์ 2.ช่างมา นคร บ้านเกาะหงส์ จ.นครสวรรค์ 3.ช่างเลิศ โพธิ์นามาศ บ้านหัวดง จ.พิจิตร 4.ช่างวัน มีทิม บ้านแหลมทราย อ.หลังสวน จ.ชุมพร

2.ยุคทำสาว เป็นคำฮิตในยุทธจักรเรือยาวทั่วประเทศ เนื่องจากรัฐมีนโยบายปิดป่าเพื่อคืนความสมดุลย์สู่ธรรมชาติ จึงเริ่มนำเรือเก่าเรือแก่มาซ่อมแซมปรับปรุง ตกแต่ง แก้ไขกันใหม่ เรียกว่าทำสาวใหม่ให้มีรูปร่างที่ทันสมัยขึ้น และประสบชัยชนะจนเป็นที่นิยมแพร่หลาย ซึ่งช่างทำสาวเรืออันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน ได้แก่ พระอธิการสมศักดิ์ สุวณโณ วัดสุวรรณราชหงส์ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง, ช่างสงวน สูญนภา บ้านเฉลิมอาสน์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หรือช่างเกียรติศักดิ์ อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เป็นต้น ในด้านทีมเรือก็มีมิติใหม่เกิดขึ้น คือ หน่วยราชการที่มีกำลังพลที่ 4 เหล่าทัพส่งกำลังพลมาเล่นเรือเพื่อร่วมรักษาประเพณีชาวบ้าน รวมทั้งเป็นการปฏิบัติการจิตวิทยามวลชนประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของหน่วยงาน

3.ยุคเรือลาว นำมาทำสาวไทยภายหลังการแข่งขันเรือยาวเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากอิทธิพลแห่งโลกยุคโลกาภิวัฒน์ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเห็นความสำคัญของกีฬาชาวบ้าน มรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำสยามประเทศ ก่อให้เกิดการถ่ายทอดสดในสนามต่าง ๆ จึงมีภาคเอกชน และหน่วยงานของรัฐตระหนักถึงความสำคัญส่งทีมเรือเข้าร่วมการชิงชัย และธำรงรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามแห่งสายน้ำนี้ไว้ จึงมีการแสวงหาเรือโบราณจากประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว) เข้ามาทำการตกแต่งแก้ไขทำสาวใหม่ด้วยฝีมือของชาวไทยเพราะราคาถูกกว่าเรือไทยเป็นยิ่งนัก

4.ก้าวสู่นานาชาติ และกีฬาแห่งชาติ ปัจจุบันเรือยาวประเพณีเป็นกีฬาทางน้ำบนพื้นฐานของวัฒนธรรมประเพณีที่ได้รับความนิยมแพร่หลายจนก้าวสู่การแข่งขันเรือนานาชาติเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และฝีพายแห่งสยามประเทศก็ประสบความสำเร็จสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในการแข่งขันในน่านน้ำสากลทั่วโลก ประการสำคัญวงการเรือยาวประเพณีได้รับการยอมรับจากวงการกีฬาระดับชาติบรรจุเข้าชิงชัยเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ
โดยการพัฒนารูปแบบให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปให้ได้มาตรฐานกีฬาสากลทั่วไป

5.ยุคฝีพายมืออาชีพ พาณิชย์แทรกแซง สังคมไทยยุคปัจจุบันเงิน หรือวัตถุดิบ เจริญรุดหน้ากว่าจิตใจตลอดจนภาระกิจในการยังชีพในเศรษฐกิจยุคปัจจุบันส่งผลกระทบก่อให้เกิดความสับสนต่อวิถีชีวิตอันดีงามเป็นยิ่งนัก แต่เดิมการแข่งขันเรือยาวประเพณีจากวิถีชีวิตอันดีงามเพื่อความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตลอดจนเพื่อนำมาซึ่งชื่อเสียงเกียรติยศแห่งคุ้มบ้านคุ้มวัดก่อให้เกิด ฝีพายมืออาชีพรับจ้างพายเรือด้วยค่าตัวที่สูงส่ง และด้วยอำนาจของเงินตรา บางครั้งทำให้หลงลืมคำว่าประเพณี และวิถีชีวิตอันดีงามของบรรพชนไปอย่างน่าเสียดาย หรือเกิดการแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่ผิดจากการจัดการแข่งขันเป็นสิ่งที่พึงสังวรระวังเป็นยิ่งนัก หรือเกิดการเบี่ยงเบนจากคุณงามความดีอันเป็นภูมิรู้ภูมิธรรมของบรรพชนอย่างแท้จริง นำเสนอโดย… “(ขุนโจ้) พิษณุโลก” อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ เลขานุการชมรมเรือยาวจังหวัดพิษณุโลก กรรมการบริหารสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก