ประวัติกีฬา เรือใบ

      เรือใบ (Yachting) เป็นกีฬาที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศฮอลแลนด์ ได้ถูกแนะนำขึ้นในประเทศอังกฤษ โดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2203 หลังจากที่พระองค์เสด็จกลับมาจากการถูกเนรเทศในประเทศฮอลแลนด์ สโมสรคอร์คฮาร์เบอร์ (Cork Harbor) ในไอร์แลนด์ (พ.ศ. 2263) เป็นสโมสรเรือใบแห่งแรก และมีสโมสรเรือใบที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาคือ สโมสรเรือใบนิวยอร์ก (New York Yacht Club) ซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2427

          กล่าวได้ว่าการเล่นเรือใบในสมัยอียิปต์และโรมันนั้น เป็นการเล่นเรือเพื่อการตรวจตราการท่องเที่ยว การติดต่อ และเพื่อการสู้รบที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว จะมีการแข่งขันกันบ้างก็เป็นเพียงครั้งคราวเท่านั้น

          การแข่งขันเรือใบแห่งชาติเริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2394 จากสหรัฐอเมริกาไปยังประเทศอังกฤษ สมาชิกของสโมสรเรือใบแห่งนิวยอร์กได้สร้างเรือใบซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 101 ฟุต เป็นเรือที่มชื่อเสียงมากของนิวยอร์คเพื่อส่งเข้าแข่งขัน และเป็นผู้ชนะเลิศได้ถ้วยรางวัลที่ชื่อว่า ฮันเดรด กีนเนีย คัพ (Hundred Guinea Cup) หลังจากที่ได้มีการแข่งขันเรือใบแห่งชาติขึ้นแล้ว ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา ได้มีการแข่งขันเรือใบเพื่อชิงชนะเลิศถ้วยต่างๆ เช่น อเมริกาคัพ (America's Cup) แคนาดาคัพ (Canada's Cup) สแกนดิเนเวียนโกล์คัพ (Scandinavian Gold Cup) การแข่งขันเรือใบจึงได้เริ่มตั้งแต่นั้นมา และได้บรรจุไว้ในการแข่งขันระหว่างชาติที่สำคัญๆ เช่น การแข่งขันกีฬาแหลมทอง (ซีเกมส์) เอเชียนเกมส์และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

 

  ประเทศไทยมีฝั่งทะเลอันยาวเหยียดทางตอนใต้ตั้งแต่อ่าวไทยไปจดประเทศมาเลเซีย ตะวันออกจดประเทศสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ราษฎรที่มีภูมิลำเนาอยู่ตามชายฝั่งทะเลดังกล่าว ส่วนมากมีอาชีพในการประมง ก่อนที่จะใช้เรือยนต์ชาวประมงได้ใช้เรือใบเป็นพาหนะออกสู่ท้องทะเล แม้ปัจจุบันนี้ยังใช้เรือใบกันอยู่ไม่น้อย นับเป็นการประหยัดเศรษฐกิจ ไม่ต้องเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง
ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่าชาวประมงไทยมีความชำนาญในการแล่นเรือมาเป็นเวลานานแล้ว การแล่นใบอย่างรวดเร็วเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางอันเป็นกิจวัตร มิใช่เพื่อแข่งขันแต่ต่างเร่งรีบที่จะออกไปจับปลาให้ได้มากที่สุด และกลับได้เร็วกว่าซึ่งย่อมหมายถึงรายได้ที่มากกว่า ชาวประมงเหล่านี้จึงไม่ทราบเลยว่าการแล่นใบที่มุ่งจะออกไปเพื่อประกอบอาชีพจะกลายมาเป็นกีฬาที่ยิ่งใหญ่ประเภทหนึ่งในปัจจุบันนี้
ประเทศไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันเรือใบเป็นครั้งแรก ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 16 ณ นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และเข้าร่วมแข่งขัน เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้นเหรียญทองเหรียญหนึ่งที่เราได้มานั้นนับเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ เนื่องจากเป็นเหรียญที่เกิดจากฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ในขณะนั้น ทั้งสองพระองค์ทำคะแนนในการแข่งขันเรือใบประเภท โด.เค. ได้เท่ากันจึงทรงครองเหรียญทองร่วมกัน โดยมีนักกีฬาจากพม่า และสิงคโปร์ได้เหรียญเงินและเหรียญทองแดงตามลำดับ
การแปรกิจกรรมในการทำมาหากินเป็นการแข่งขันเพื่อผ่อนคลายและหาความบันเทิงให้แก่ผู้ที่ทำงานนั้น เป็นสิ่งปกติสำหรับการดำเนินชีวิตมนุษย์นอกจากนี้ยังเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดวิวัฒนาการในการใช้เครื่องใช้ในการทำมาหากินอย่างเช่นกันการแข่งขันเรือใบ เป็นต้น เพราะเรือแซว เรือกระแซง ได้วิวัฒนาการก้าวหน้าและปลอดภัยมากขึ้นเป็นลำดับ จนกลายมาเป็นเรือซูเปอร์โบต (Super Boat) เอนเตอร์ไพรส์ (Enterprise) โฟร์บอล ลาร์ค (Foreball Lark) ในภาษาของนักแข่งเรือใบ
การแข่งขันเรือใบในปัจจุบันเป็นกีฬาที่ต้องลงทุนกันมาก เฉพาะเสากระโดงเรือ หรือเรือใบต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก เรือที่ต่ออย่างดีจะมีราคาแพง ทั้งนี้เพราะวัสดุส่วนใหญ่ต้องสั่งมาจากต่างประเทศ เนื่องจากมีผู้ใช้น้อย แต่ก็ยังมีโรงงานที่ต่อเรือเพื่อใช้แข่งขันเองคือ โรงงานต่อเรือใบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเรือใบแข่งขันประเภทซูเปอร์มด อันเป็นเรือที่เล็กที่สุด พระองค์ทรงต่อเรือด้วยฝีพระหัตถ์ นับตั้งแต่การไสไม้ วางกระดูกงู ขึ้นโครง ไปจนถึงทรงทาสีและลงแลกเกอร์ด้วยพระองค์เอง
ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปรารภว่า ผู้แล่นเรือใบควรจะต่อเรือใบเองเพื่อเป็นการประหยัด และทำให้กีฬาเรือใบแพร่หลายทั่วไปได้ เพราะพระองค์ทรงเล็งเห็นว่า คนที่มีรายได้ทุกระดับที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลพอจะเล่นได้ การนำเอาเรือใบมาเป็นกีฬาจะไม่ถือว่าเป็นการสร้างชนชั้น ก่อนหน้านั้นการแล่นเรือใบดูจะเป็นกิจกรรมของคนมีเงินและมีเวลาเนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ที่แพง และเสียเงินค่าเดินทางไปเล่นตามชายทะเล ซึ่งในที่นี้ส่วนใหญ่จะต้องมีรถเอง ต้องเสียค่าสมาชิกสโมสร ค่าที่พักและอื่นๆ อีกมากมาย แล้วยังต้องเสียเวลาเดินทาง เสียเวลาในการแต่งเรือหรือเตรียมเรือซึ่งเวลาแล่นต้องใช้เวลามาก เมื่อแล่นแล้วต้องเก็บรักษาดูแล เพราะหากไม่มีคนช่วยหรือมีลูกมือแล้วจะต้องเสียเวลามาก ซึ่งกิจกรรมเสียเงินเสียเวลานั้น ในปัจจุบันนี้ยังเป็นเช่นนั้นอยู่
การแล่นเรือใบปัจจุบันไม่จำกัดอย่างแต่ก่อน ทหารเรือจะเป็นผู้ที่ได้เปรียบมากกว่าคนอื่นๆ เพราะคลุกคลีกับเรือและน้ำตลอดเวลา ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ไม่ต้องเสียเงินซื้อเรือใบและอุปกรณ์ เพราะส่วนใหญ่ใช้หรือเช่าจากสโมสรเรือใบซึ่งมีอยู่หลายส่วนในกองทัพเรือ ด้วยเหตุนี้บรรดานักแล่นใบของกองทัพเรือจึงยึดครองการแข่งขันเอาไว้เกือบทุกประเภทในระยะ 2-3 ปี ที่ผ่านมา แต่ตามมาตรฐานแล้ว สถิติและฝีมือของทหารเรือยังไม่ดีนัก เพราะการแข่งขันเรือใบไม่ได้ขึ้นอยู่กับน้ำ ลม หรือเรือแต่เพียงอย่างเดียว แต่ความรู้ด้านกลศาสตร์ และประสบการณ์อื่นๆ ยังมีส่วนในการแข่งขันคนที่จะแล่นใบเก่งนั้นไม่ใช่เพียงแต่ซ้อมอย่างเดียว หากแต่ยังต้องศึกษากฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุทกศาสตร์ กลศาสตร์ หรือสรีรศาสตร์ ซึ่งจำเป็นในการแล่นใบที่สุด และยังต้องคำนึงถึงสัดส่วนของร่างกายรวมทั้งน้ำหนักตัวที่ใช้ถ่วง เพราะความคล่องแคล่วตัวเหล่านี้ต้องใช้ในการแข่งขันมากที่สุด
ความคึกคักในวงการแข่งเรือใบ เกิดขึ้นเนื่องจากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว และคงอีกนานกว่าจะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมเปลี่ยนไปนั่นเอง จะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่พระองค์ทรงประดิษฐ์และทรงริเริ่มเอาไว้คงเป็นมรดกพระราชทานให้แก่นักแล่นใบทั้งหลายสืบทอดพระราชเจตนากันต่อไป

หน้าหลัก

ประเภทของกีฬาเรือพาย

ประวัติ เรือคยัค-แคนู

ประวัติเรือยาวประเพณี

ประวัติกีฬาเรือกรรเชียง (Rowing)

ประวัติเรือมักร

ประวัติกีฬา เรือใบ